เด็กประถมบ้านเรามี 2 คนค่ะ ทั้งสองผ่านการเรียนเขียนอ่านในโรงเรียนมา เพียงแต่ชอบมากชอบน้อย มีพื้นฐานกันมาบ้าง ตอนที่เรามาสอนกันในบ้าน ก็จะถามทวนจากที่มี ถึงได้รู้ว่ายังติดขัดเรื่องผันวรรณยุกต์ จึงเป็นที่มาของคอร์สสั้นๆ ผันวรรณยุกต์คอร์สนี้
เราสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งอักษร คำถามที่ลูกควรตอบได้ คือ “ทำไมต้องแบ่งอักษรเป็น 3 กลุ่ม?” คำถามนี้สำคัญเพราะถ้าลูกรู้ว่าเรียนไปทำไม ก็จะมีใจอยากเรียน คำตอบที่เราให้คือ “ใช้ผันวรรณยุกต์ต่างกัน”
ก่อนการผัน เราทวนสระกันก่อน สระแบ่งเป็นเสียงสั้นและเสียงยาว วิธีดูคือ ถ้าลากเสียงอ่านต่อไปยาวๆ แล้วเสียงไม่เพี้ยนก็เป็นสระเสียงยาว
อักษรกลางเราท่องจำกันว่า “ก่อน ออก ไป จาก บ้าน ต้อง ดุอาอ์ ฎ้อง ฏุอาอ์” เมื่อเจอกับสระเสียงยาวก็จะผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทั้ง 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา เช่น จา จ่า จ้า จ๊า จ๋า
อักษรสูง เราท่องจำกันว่า “ถ้า ฉัน สวม หิญาบ ผ้า ฝ้าย สี ขาว” กับตัวอักษรอื่นๆ ที่ออกเสียงหนักๆ เช่น ศ, ษ, ฐ เป็นต้น อักษรสูงจะผันได้ 3 เสียง คือ สามัญ เอก โท เช่น ผา ผ่า ผ้า
อักษรต่ำเราเรียนควบกับอักษรสูงเลย เพราะผันได้ 3 เสียงเหมือนกัน แต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน เรียนต่อกันจะได้เทียบกันได้ง่าย วิธีดูอักษรต่ำก็คือ ไม่ใช่อักษรกลาง และเสียงไม่หนักเหมือนอักษรสูง ก็จะผันได้ 3 เสียง เช่น พา พ่า พ้า (ลองยกตัวอย่างอักษรสูงและอักษรต่ำที่เสียงใกล้กันเป็นคู่ จะได้เทียบกันชัด เช่น พ-ผ, ค-ข, ซ-ส เป็นต้น)
หลังจากรู้จักอักษรทั้ง 3 กลุ่มและการผันแล้ว เราก็ทดสอบปากเปล่ายิงคำถามกันรัวๆ ให้ช่วยกันผันและตอบว่าเป็นอักษรกลุ่มใด เพื่อทดสอบความเข้าใจและแม่นยำ ตอนผันอักษรต่ำ ก็จะมีพาดพิงเสียงที่มี ห นำ เช่น วาน, หว่าน, ว่าน… คือมักจะมีคำติด ห นำหลุดมา จึงแนะนำให้ลูกรู้จักคำที่มี ห และ อ นำ ทิ้งท้ายบทเรียน
จบคอร์สผันวรรณยุกต์ฉบับบ้านๆ ของบ้านเรา หลังจากนี้ก็อาศัยฝึกฝนอ่านเขียนจากที่เรียนรู้ เพื่อความถูกต้องคล่องแคล่วกันต่อปายย….