บ้านรัก

talibiddeenjr

                 ทางเลือกบ้านเรียนของเรามีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งบ้านใครๆ ก็มีได้ นั่นคือ ความรัก  เราอยากเน้นให้บรรยากาศในบ้านของเราอบอวลไปด้วยความรัก เพราะมันเป็นพื้นฐานแนบแน่นที่ช่วยเชื่อมโยงหัวใจพวกเราไว้ด้วยกัน  ทำให้เราพร้อมจะพูดคุย แบ่งปัน ตักเตือน และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดในชีวิตครอบครัว  ส่งผลให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งในที่สุด อินชาอัลลอฮฺ

                ช่วงเช้าของวันที่คุณแม่พยายามเร่งสะสางภารกิจต่างๆ ทั้งงานบ้าน งานราษฎร์ และงานหลวง  หากหันไปพบลูกๆ คนใดตื่นขึ้นมา เราก็จะเริ่มต้นวันด้วย รอยยิ้ม แล้วทักทายเสียงใสว่า “ตื่นแล้วเหรอลูก” พร้อมสอนอ่านดุอาอฺหลังตื่นนอน (ถึงแม้เรากำลังหัวเสียว่าทำไมตื่นเช้าจังลูก แม่ยังทำงานไม่เสร็จ) สิ่งแรกที่ลูกได้ในแต่ละวันคือรอยยิ้มซึ่งบอกถึงการเริ่มต้นวันใหม่ที่อารมณ์ดี ชวนให้บรรยากาศของวันน่าจะดีตามไปด้วย

                การอยู่ร่วมกันของลูกหลายคน ผู้อ่านคงจินตนาการออกนะคะ เด็กๆ ย่อมมีการแข่งขันแย่งซีนอยากเป็นที่รักของพ่อแม่เสมอ  เมื่อใดที่อยู่ทั้งพ่อแม่ เราก็รับมือได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ถึงคราวที่อยู่กับแม่คนเดียวนี่สิ ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานเกือบตลอดวันซะด้วย  คุณแม่ควรสังเกตและพยายามแก้สถานการณ์แต่เนิ่นๆ  ลูกคนไหนเริ่มเบี้ยว แกล้งน้อง เรียกร้องความสนใจด้วยการร้องดังๆ ลงไปนอนดิ้น รื้อข้าวของ หรือแม้แต่ปลีกตัวไปเงียบๆ ไม่ว่าพวกลูกๆ กำลังทำอะไร ก็ควรอยู่ในความสนใจของเรา  เราจะเห็นอาการที่เขาเรียกร้องเราบ้างก็ควรเข้าหา โอบกอดปลอบประโลมสักพัก  พี่บางคนมีอาการหมั่นไส้น้องเพราะเราดูแลน้องมากไปหน่อย ก็เข้าหาพี่บ้าง  เรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ของแต่ละครอบครัวซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว  แต่บอกได้ว่าต้องเริ่มด้วยใจค่ะ  การคุยกับเด็กๆ ด้วยภาษาใจว่าเราสนใจเขาจริงๆ เวลาลูกคุยกับเรา ควรหันหน้ามาหาลูก สบตาแล้วคุยกัน ลดตัวลงมาคุยระดับเดียวกับลูก โดยเฉพาะเมื่อบอกให้ลูกทำสิ่งที่ลูกไม่อยากทำ (ไม่ทำให้รู้สึกว่าลูกถูกสั่งการ แต่เรากำลังคุยกัน)  โอบกอดหอมกันในระหว่างวัน โดยเฉพาะช่วงที่ลูกรู้สึกแย่  สรุปง่ายๆ คือลูกต้องการคำพูดที่มาจากความรักภายใน ไม่ใช่เพียงน้ำเสียงสั่งการของพ่อแม่

                ที่บ้านเราบางครั้งลูกพูดคำหยาบ ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัว เวลาเล่นกับเพื่อนๆ ก็จะได้รับคำยอดฮิตติดปากกลับมาบ้าน  สำหรับบ้านเราไม่ได้ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาติดตัว แต่วิธีแก้ก็ทดลองกันไปและอาศัยเวลาค่อยเป็นไป  เวลาที่ลูกพูดคำหยาบ คุณแม่ควรรีบบอกให้ลูกรู้ว่าเป็นคำไม่ดี ไม่ควรพูด แล้วก็ตัดบทชวนลูกไปทำอะไรอย่างอื่น หรือชวนท่องอาขยานดีๆ แทนก็ได้  ที่บ้านเราเวลาลูกพูดคำหยาบ เช่น “อุมมีเป็นคนบ้า” พูดซ้ำๆ อยู่นั่นล่ะ น่าโมโหจริงเชียว แต่เราก็ต้องใช้ความอดทนระงับอารมณ์แล้วพูดกลับว่า “น้องซะอฺดเป็นคนน่ารัก” พูดซ้ำๆ สักพัก ลูกก็จะเปลี่ยนมาพูดตาม “อุมมีเป็นคนน่าร้ากกก”  พอหลังๆ ที่ลูกพูดคำหยาบ เราก็พูดขึ้นมาว่า “น้องซะอฺดเป็นคน…” เค้าก็จะเติมเองว่า “น่าร้าก” แล้วก็หยุดพูดคำหยาบไป  บางทีมันก็ไม่ได้ง่ายตามทฤษฎีนะคะ ต้องอดทน อาศัยทำสม่ำเสมอและจริงจัง  เพราะถ้าลูกเห็นว่าบางครั้งเราเตือนลูกว่าไม่ดี แต่บางครั้งก็ปล่อยให้พูด ลูกก็จะลองพูดดูเผื่อเราไม่ห้ามก็ทำต่อ  เรื่องนี้คล้ายกับหลายๆ เรื่องที่พอเราวางเกณฑ์ว่าทำไม่ได้ ก็ควรสม่ำเสมอที่จะตักเตือนลูก  กับเด็กๆ นี่เราต้องพูดซ้ำๆ สักหน่อยค่ะ แต่ถ้าอาศัยการพูดด้วยความนิ่มนวลน่าฟัง รวมกับการแสดงความรักของเรา ก็จะมีน้ำหนักและง่ายขึ้นโข อินชาอัลลอฮฺ

                ประเด็นหนึ่งที่อยากฝากไว้สำหรับบรรดาคุณแม่รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีบทบาทต่อการดูแลลูกหลานทุกท่าน คือ อยากให้เรามองเด็กๆ เหมือนเป็นสิ่งสะท้อนตัวเรา เวลาที่เด็กทำอะไรไม่ดี ลองมองซิว่าเราเป็นอย่างนั้นรึเปล่า ถ้าใช่ก็ยอมรับ แล้วพยายามปรับปรุงตัวเราให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กๆ  ถ้ามองแบบนี้แล้วเราก็จะไม่โกรธเด็ก และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงตัวเองไปพร้อมกับเด็กๆ ได้  เพราะคนเรามักจะให้อภัยตัวเองได้เสมอ สำคัญคือ อย่าหลอกตัวเองค่ะ

                สุดท้ายจริงๆ ที่อยากฝากไว้คือการดูแลตัวเองค่ะ อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในบทความก่อนๆ บ้างแล้ว  การให้หัวใจของเราได้สัมผัสรสแห่งการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง ละหมาดเสร็จแล้วมีพลัง อ่านหรือฟังกุรอานแล้วสดชื่น เหล่านี้เป็นกำลังทางใจที่ไม่ต้องเน้นปริมาณ แต่ขอให้เรากอบโกยคุณภาพให้ได้ ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ อะไรก็เกิดขึ้นได้ค่ะ